กรรมวิธีขึ้นรูปแผ่นยางกระดานวาดภาพนูน สำหรับผู้ที่มีบกพร่องทางการเห็น
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
บุคคลที่บกพร่องทางการเห็น ยังมีข้อจำกัดด้านการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดจินตนาการ เฉกเช่น ผู้เรียนปกติ ในทางปฏิบัติ ผู้เรียนที่บกพร่องทางการเห็นจะได้ประสบการณ์จากการสัมผัสภาพนูน แต่หากจะจินตนาการสร้างขึ้นเอง เป็นไปได้ยาก ปัจจุบัน อุปกรณ์สร้างภาพนูน เพื่อการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนที่บกพร่องทางการเห็นในต่างประเทศได้พัฒนาขึ้น ผู้เรียนสามารถสร้างภาพนูนได้เองโดยใช้อุปกรณ์สร้างภาพนูน ซึ่งประกอบด้วย แผ่นรองเขียน พลาสติกสร้างภาพนูน และปากกา ปัจจุบัน อุปกรณ์เหล่านี้ ได้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย แต่จำหน่ายราคาชุดละ 1,800 บาท เพราะนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น การพัฒนาการเรียนการสอนให้กับนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็น จึงมีข้อจำกัดเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากประเทศสามารถผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ได้เอง จะเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับบุคคลบกพร่องทางการเห็นได้ดี
บทสรุปเทคโนโลยี
การเตรียมแผ่นยางวาดภาพนูน โดยใช้เทคนิคการผสมแบบเย็น โดยใช้ส่วนผสมของโพลียูรีเทน และแบเรียมซัลเฟต (โดยเริ่มต้นผสม โพลียูรีเทน ให้เข้ากันก่อนจนเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งสังเกตได้จากลักษณะของสีจะมีลักษณะขาวขุ่น โดยการผสมต้องทำการควบคุมอุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส จากนั้นแบเรียมซัลเฟต ลงไปครั้งละ 10 ส่วน ทำการกวนส่วนผสมของโพลียูรีเทน และแบเรียมซัลเฟต ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ให้เข้ากัน จากนั้นพักส่วนผสมที่ อุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที แล้วนำไปขึ้นรูปในโมล โดยใช้เวลา 45 นาที ส่วนผสมจะคืนตัวเป็นแผ่นพร้อมใช้งาน จากนั้นนำไปล้างด้วยน้ำเปล่า ที่ อุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส ใช้ลมเป่าให้แห้ง ตัดแต่งเป็นขนาดตามที่ต้องการ
จุดเด่นของเทคโนโลยี
แผ่นยางวาดภาพนูนจะช่วยให้ระบบการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนที่บกพร่องทางการเห็นสามารถเข้าใกล้กับการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนปกติมากขึ้น แผ่นรองเขียน ทำจากพอลิเมอร์ชนิดอีลาสโตเมอร์ แผ่นพลาสติกสร้างภาพนูนมีลักษณะใสเหมือนพลาสติกใสทั่วไป แต่มีความกรอบมากกว่า ส่วนปากกาจะคล้ายกับปากกาที่ผู้เรียนปกติใช้ แต่ไม่มีหมึกจึงมีแนวคิดหาพลาสติกสร้างภาพนูนที่อาจมีการผลิตในประเทศ แต่นำไปใช้ในงานอื่น ๆ และผลิตแผ่นรองเขียนขึ้นใช้เองในประเทศ โดยเลือกสรรพอลิเมอร์ที่มีความยืดหยุ่น และอาจผสมผสานกับสารอื่น ๆ เพื่อให้ได้คุณสมบัติคล้ายแผ่นรองเขียนที่นำเข้าจากต่างประเทศ
สถานภาพเบื้องต้น
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิเพื่อการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์
สนใจสอบถามข้อมูล
หน่วยบริหารงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
295 ถ.นครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : 02-244-5285
โทรสาร : 02-244-5286
e-mail: raudusit@gmail.com
https://www.facebook.com/raudusit